สำนักผู้นำสูงสุดซัยยิด อาลี คาเมเนอี

ชีวประวัติ

ชีวประวัติ


อัตชีวประวัติท่านอิมาม ซัยยิดอาลี คาเมเนอี

ท่านอยาตุลลอฮ ซัยยิดอาลี คาเมเนอี ถือกำเนิดเมื่อปี ฮ.ศ.ที่ 1358 หรือ ปี ค. ศ 1939 ในครอบครัวของนักการศาสนา ณ เมืองมัชฮัด ซึ่งเป็นเมืองเอกของแคว้นคูโรซานตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิหร่าน ท่านเป็นบุตรคนที่สอง ของท่านฮุจญะตุลอิสลาม วัลมุสลีมีน ซัยยิดญะวาด ฮูซัยนี คาเมเนอี ซึ่งเป็นนักปราชญ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลามระดับแนวหน้าท่านหนึ่งของเมืองมัชฮัดในขณะนั้น และเป็นผู้หนึ่งที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายตามแบบฉบับของนักการศาสนาที่ดี ด้วยเหตุนี้ทำให้ครอบครัวของท่านได้ซึมซับวิถีชีวิตชีวิตแห่งความสมถะอย่างแท้จริงไปโดยปริยายและยึดถือเป็นแบบฉบับในการดำเนินชีวิตตลอดมา.
ท่านอิมามอาลี คาเมเนอี ได้เล่าไว้ในชีวประวัติช่วงแรกของท่านเกี่ยวกับสถานะภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวท่านว่า “บิดาของข้าพเจ้าเป็นนักการศาสนาที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง เป็นผู้หนึ่งที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮอย่างสูง และดำรงชีวิตด้วยความความสมถะเป็นอย่ามาก เรา .... ผ่านพ้นชีวิตมาด้วยความยากลำบาก ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่า มีอยู่คืนหนึ่ง ภายในบ้านเราไม่มีอาหารค่ำจะรับประทาน! ทำให้มารดาของข้าพเจ้าต้องทนและอดกลั้นกับความยากลำบากในการเตรียมอาหารค่ำในคืนนั้น และในคืนนั้น เราได้รับประทานอาหารค่ำแค่เพียงขนมปังแห้งกับลูกเกดเท่านั้น”
ท่านผู้นำ ได้กล่าวถึงบ้านที่ครอบครัวของท่านได้พักอาศัยในวัยเยาว์ไว้ว่า”ข้าพเจ้าถือกำเนิดมาในบ้านหลังนี้ และในวัย สี่ ห้าขวบก็ได้เติบโตอาศัยในบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นบ้านที่มีขนาด 60-70 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านคนยากจนแห่งเมืองมัชฮัด ซึ่งเป็นบ้านที่มีเพียงห้องเดียว กับห้องใต้ดินที่มืดมิดและอึดอัดอีกหนึ่งห้อง! และเมื่อใดที่มีแขกของบิดามาเยี่ยมเยือน พวกเราจะต้องหลบไปอยู่ในห้องใต้ดินเป็นประจำจนกว่าแขกจะกลับไป ต่อมาได้มีผู้มีกุศลจิตมอบที่ดินแปลงหนึ่งให้ ซึ่งเป็นที่ดินที่ติดกับบ้านที่เราอาศัยอยู่ บิดาของข้าพเจ้าจึงได้ขยายบ้านเพิ่มขึ้นอีกสามห้อง.
ท่านผู้นำเติบโตมาจากครอบครัวยากจน แต่เป็นครอบครัวที่มีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นครอบครัวนักการศาสนาที่มีความสมถะและบริสุทธิ์อย่างแท้จริง จากการที่ท่านถูกอบอบรมเลี้ยงดูโดยครอบครัวลักษณะเช่นนี้อันเป็นเสมือนเบ้าหลอมชั้นดีภายใต้อ้อมกอดของจิตวิญญาณแห่งอิสลาม ดังนั้นเมื่อท่านมีอายุได้ สี่ ขวบ ท่านถูกส่งไปเรียนรู้วิชาศาสนาและอัล-กุรอาน พร้อมกับ ซัยยิด มุฮัมมัด พี่ชายคนโต จากนั้นทั้งสองได้เข้าศึกษาต่อระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน ดารุล ตะอฺลีมดิยานะตี ซึ่งเป็นโรงเรียนศาสนาที่เพิ่งเปิดใหม่ จนสำเร็จการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนดังกล่าว.

ศึกษาต่อในสถาบันศาสนา

หลังจากที่ท่านได้เล่าเรียน หนังสือ ญามีอุล มุก็อดดิมาต และหลักไวยกรณ์ภาษาอาหรับภาคพื้นฐานสำเร็จ ท่านก็ได้เข้าสู่สถาบันศึกษาศาสนา โดยมีบิดาของท่านและอาจารย์ท่านอื่นๆเป็นครูสอนในด้านวิชาขั้นพื้นฐานต่างๆในสถาบันศาสนาแห่งนั้น.
ท่านผู้นำได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเลือกเข้าเรียนด้านศาสนาว่า “บิดาคือกำลังใจและแรงบันดาลใจหลักที่ทำให้ข้าพเจ้าเลือกเดินในหนทางแห่งความจำเริญและมุ่งสู่เส้นทางของนักการศาสนา ผนวกกับมารดาก็ยังให้การสนับสนุนส่งเสริมเห็นชอบอีกด้วย.
ในสถาบันศาสนาท่านได้ศึกษาเล่าเรียนตำราหลักไวยกรณ์ เช่น ญามีอะตุลมุก็อดดิมาต ซะยูตีย์, และมุฆนีย์ กับบรรดาอาจารย์ของโรงเรียน “สุลัยมาน คาน” และโรงเรียน “นะวาบ” โดยมี บิดาของท่านเป็นดูแล และในช่วงเวลานั้นท่านก็ได้เรียนจบตำราวิชา มะอาลิม.
ต่อมาท่านได้เรียนตำรา ชะรอเญีอฺ อุลอิสลามและ ชัรฮุล ลุมมะห์ ส่วนหนึ่งกับบิดาของท่าน ส่วนที่เหลือท่านได้ศึกษาต่อกับท่านมีรซฺา มุดัรริส ยัซดีย์ ส่วนตำรา ราซาอิล ซึ่งเป็นตำราด้านอุศูล(วิชาที่เป็นมูลฐาน เป็นส่วนสำคัญต่อการตีความหะดีษ นิติศาสตร์และอธิบายแนวความคิดต่างๆ) และมะกาซิบ (ตำราด้านกฎหมายอิสลาม)อีกเล่มหนึ่ง ท่านยังได้ศึกษากับ ฮัจญี เชคฮาชิม กัซวีนี อีกด้วย ท่านผู้นำสำเร็จการศึกษาในระดับต้นและระดับกลางภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี กับ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถพิเศษของท่านที่สามารถใช้เวลาเพียงสั้นๆจบหลักสูตรขั้นพื้นฐานต่างๆเหล่านี้อย่างรวดเร็ว,ส่วนตำราด้านปรัชญา ตรรกศาสตร์ และมันศูมะห์ ซับซอวารีย์ นั้น เบื้องต้นท่านได้ศึกษากับท่าน มัรฮูม อยาตุลลอฮ มีรซา ญาวาด เตหะรานีย์ และหลังจากนั้นท่านได้ศึกษาต่อกับ เชค ริฎอ เอยซีย์.

ศึกษาต่อ ณ. สถาบันการศึกษาศาสนาเมืองนาญัฟ

เมื่ออายุ 18 ปี ท่าน ผู้นำได้เริ่มศึกษาวิชาอุศูล และนิติศาสตร์อิสลามระดับสูง (ดาร์ ซุล คอริจ) กับท่าน อยาตุลลอฮฺ อัลอุซมา มีลานี และในปี ฮ.ศ. 1381 (1336 ปีอิหร่าน) ท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อยังเมืองนะญัฟอัชรอฟและในช่วงเวลาอันสั้นนั้นท่านมีโอกาสได้ศึกษากับ ท่านอยาตุลลอฮซัยยิด มุห์ซิน ฮะกีม, อยาตุลลอฮ มะห์มูด ชาฮ์รูดีย์ , มิรซา บากีร ซันญอนีย์, ซัยยิด ยะห์ยา ยัซดีย์ ,และมิรซา ฮะซัน บัญนูวารดีย์ ซึ่งท่านศึกษาได้ไม่นาน บิดาของท่านได้เรียกตัวกลับประเทศ.
เมื่อท่านเดินทางกลับมายังอิหร่านในระหว่างปี 1337-1343 (ปีอิหร่าน) ท่านได้ศึกษาต่อในวิชาอูศูล ฟิกฮ์ และปรัชญา ในสถาบันศาสนาเมืองกุมกับท่านอยาตุลลอฮ บุรูญิร์ดี และท่านอยาตุลลอฮ มุรฺตะฎอ ฮาอิรี ญัซดีย์ อิมามโคมัยนี และอัลลามะห์ ฏอบาฏอบาอีย์ ในปี 1343 (ปีอิหร่าน)ท่านได้ทราบข่าวว่า บิดาของท่านตาบอดข้างหนึ่ง ซึ่งข่าวร้ายนี้สร้างความระทมทุกข์แก่ท่านเป็นอย่างมาก ท่านจึงเกิดความรู้สึกสับสนและลังเลใจว่าท่านจะศึกษาต่อที่เมืองกุมต่อไปหรือจะกลับไปเมืองมัชฮัดเพื่อปรนนิบัติบิดา, .ด้วยความตะวักกั้ลต่ออัลลอฮอย่างแท้จริง ในที่สุดท่านได้ก็พบคำตอบสุดท้าย คือการเลือกที่จะเดินทางกลับยังมัชฮัดเพื่อคอยปรนนิบัติบิดา ในเรื่องนี้ท่านผู้นำได้กล่าวว่า “หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับมายังเมืองมัชฮัด พระผู้อภิบาลได้ทรงมอบความจำเริญหลายสิ่งหลายอย่างให้กับข้าพเจ้า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามข้าพเจ้าคิดว่าจะต้องเลือกปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่มี ซึ่งหากว่าข้าพเจ้าประสบความสำเร็จในชีวิต ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าเป็นเพราะการทำความดีและการปรนนิบัติที่ดีต่อบิดาและมารดาของข้าพเจ้า”
การตัดสินใจของท่านผู้นำในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเลือกทางที่ถูกต้อง ในขณะที่บรรดาคณาจารย์และเพื่อนๆของท่านล้วนแต่รู้สึกเสียดายที่ท่านต้องออกจากสถาบันศาสนาเมืองกุม เพราะทุกคนคิดว่าหากท่านเลือกที่จะศึกษาที่เมืองกุมต่อ ท่านจะมีอนาคตอันสดใสสามารถก้าวไปเป็นใหญ่มีชื่อเสียง มีตำแหน่งใหญ่โตได้ไม่ยากในอนาคต แต่ทว่าอนาคตต่อมาเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าว่า การเลือกทางเดินของท่านนั้นเป็นการเลือกที่ถูกต้อง เพราะมันเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทรงลิขิตชะตาชีวิตของท่านให้มีฐานะภาพที่ดีกว่าที่บรรดาคนเหล่านั้นคาดคิดเอาไว้ เป็นเพราะว่า ในช่วงเวลานั้นท่านผู้นำมีอายุเพียง25ปี เป็นช่วงวัยรุ่นที่มีพละกำลังแข็งแรงทั้งทางด้านสมองและร่างกาย แต่ท่านกล้าที่จะเลือกเดินทางออกจากสถาบันการศึกษาศาสนาเพื่อกลับไปปรนนิบัติต่อบิดาและมารดา โดยเพียงมุ่งแสวงหาความใกล้ชิดยังพระองค์เท่านั้น และไม่มีใครคาดคิดเลยว่า 25 ปี ต่อมา ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูดสุดของมวลมุสลิม???
สมัยที่ท่านอยู่เมืองมัชฮัด ท่านก็ยังคงศึกษาวิชาการศาสนามิเคยหยุดหย่อน นอกจากเป็นวันหยุดเท่านั้น แต่ในด้านการเคลื่อนไหวท่านก็ยังได้ทำการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆไม่เคยหยุด
ท่านผู้นำได้เริ่มกลับมาศึกษาต่อในสาขาวิชาอุศูล และฟิกฮ์ อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ณ. เมืองมัชฮัด ในปี 1347 (ปีอิหร่าน)ท่านได้ศึกษากับ อยาตุลลอฮ มีลานีย์ ก่อนหน้านี้ ในปี 1343 ในสมัยที่ท่านอยู่ในเมืองมัชฮัด ขณะที่กำลังศึกษาและปรนนิบัติดูแลบิดาและมารดาอยู่นั้น ท่านยังเป็นอาจารย์สอนวิชา ฟิกฮ์ อุศูล และมาอาริฟอิสลาม ให้กับนักเรียนศาสนาและนักศึกษาระดับปัญญาชนอีกด้วย.


การต่อสู้ทางการเมือง

ตามคำกล่าวของท่านผู้นำสูงสุด ว่า ถึงแม้นว่าท่านจะเป็นสานุศิษย์ทางอุดมการณ์ของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ)ทั้งในด้าน วิชาการฟิกฮ์ อุศูล การเมือง และการปฏิวัติ แต่บุคคลที่จุดประกายให้ท่านเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง การต่อสู้การปฏิวัติและต่อต้านศัตรู ฏอฆูต คือ ชะฮีด มุจตะบา นัฟวาบ ศอฟาวีย์ , เพราะครั้งที่ ชะฮีด มุจตะบา นัฟวาบ ศอฟาวีย์ พร้อมกับบรรดานักต่อสู้อิสลามได้เข้ามาปราศรัย ณโรงเรียน สุลัยมาน คาน เมื่อปี 1331 ในประเด็นหัวข้อ การฟื้นฟูอิสลาม การปกครองแบบอิสลาม และแผนการณ์และกลลวงของชาห์และอังกฤษที่มีต่อประชาชาติอิหร่าน
ซึ่งท่านผู้นำได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า ในเวลานั้น ผู้ที่จุดประกายและแรงจูงใจในการเข้าสู่เส้นทางการปฏิวัติคือ ท่าน นัฟวาบ และไม่เป็นที่สงสัยแต่อย่างใดว่า ท่านคือ ผู้จุดประกายไฟแห่งการปฏิวัติในตัวของข้าฯ
เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ)
ในปี 1341 ท่านอิมามคาเมเนอี ได้พำนักอยู่ ที่เมืองกุม และได้เริ่มเคลื่อนไหวขบวนการ การปฏิวัติและการประท้วงชาห์ปาเลวี ตามคำชี้นำของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ตลอดช่วงเวลา15 ปีแห่งการต่อสู้ ท่านมิเคยมีความหวาดกลัวและเกรงกลัวภัยคุกคามแต่อย่างใด ไม่ว่าจะถูกเนรเทศจะถูกจองจำ และถูกทารุณกรรมต่างๆ ก็ตาม
ในปี 1383 (ฮิจเราะฮ์) ท่านได้รับ ภารกิจจากท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ให้นำสาส์นไปมอบยังอยาตุลลอฮ มีลานีย์ และอุลามาอฺในเมืองโคราซอน เรื่องนโยบายในการเผยแพร่และหัวข้อการบรรยายในช่วงเดือนมุฮัรรอม เพื่อเปิดโปงแผนการร้ายต่างๆของชาห์กับอเมริกา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิหร่านและเมืองกุม, ซึ่งท่านก็ได้รับหน้าที่ในภารกิจครั้งนี้ อีกทั้งตัวของท่านยังได้เดินทางไปยังเมือง บีรญันเพื่อประกาศสาส์นของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) จากการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ทำให้ท่านต้องถูกจับกุมตัวในวันที่ 9 เดือน มุฮัรรอม และถูกขังเป็นเวลาหนึ่งคืน และได้รับการปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้นวัน แต่มีเงื่อนไข ว่า ท่านจะต้องไม่ขึ้นบนมินบัรอีกต่อไปและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการ, แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ ในวันที่ 15 โครดอด 1342 ท่านก็ถูกโยกย้ายไปฝากขังตัวที่เมืองมัชฮัดให้กับหน่วยงานตำรวจซาวัก โดยที่ท่านอยู่ในคุกเป็นเวลาสิบวัน ซึ่งถูกทรมานในรูปแบบต่างๆนาๆในสภาพที่เลวร้ายอย่างยิ่ง.


การจับกุมตัวครั้งที่สอง

ในเดือนบะห์มัน ปี 1342 (เดือนรอมฎอน ปี 1383) ท่านได้เดินทางยังเมืองคีรมาน พร้อมกับมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ ตามแผนกำหนดการที่วางไว้, ช่วงระยะเวลาสองสามวัน ที่อยู่ในเมืองคีรมาน ท่านก็ได้กล่าวปราศรัยบนมินบัร ได้พบปะกับอุลามาอฺและนักการศาสนา หลังจากนั้นก็ได้เดินทางมุ่งสู่เมือง ซาฮิดาน ซึ่งในเมืองดังกล่าว ท่านก็ได้มีการกล่าวปราศรัยเปิดโปงความชั่วช้าของชาห์อย่างดุเดือด โดยเฉพาะในวันที่หก ของเดือนบะห์มัน ซึ่งเป็นวันครบรอบการเลือกตั้งและการทุจริตของชาห์
ในวันที่สิบห้าเดือนรอมฎอน ซึ่งตรงกับวันวิลาดัตของท่านอิมามฮะซัน(อ) ท่านได้แสดงถึงจุดสูงสุดแห่งความกล้าหาญ และความเข้มข้นในการปฏิวัติ โดยมีการเปิดโปงความชั่วช้าของนโยบายแห่งมาร อเมริกาและชาห์ปาเลวีห์ให้เป็นที่ทราบกันทั่วหน้า ซึ่งในเหตุการณ์นี้เองทำให้ตำรวจซาวัก ได้เข้าไปจับกุมตัวท่านอีกครั้ง แล้วได้นำตัวท่านมายังกรุงเตหะรานด้วยเฮลิปคอบเตอร์ แล้วถูกนำไปฝากขังในห้องขังพิเศษ กาซัล กัลอะห์ เป็นเวลาสองเดือน โดยท่านต้องทนรับการทรมาน ในรูปแบบต่างๆจากน้ำมือของกลุ่มซาวัก.


การจับกุมครั้งที่สามและครั้งที่สี่

หลังจากได้รับการปล่อยตัว ท่านได้เปิดสอนวิชาการตัฟซีร์ ฮะดิษ และความคิดอุดมการณ์อิสลามในเมืองมัชฮัดและกรุงเตหะราน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากเยาวชนนักปฏิวัติ ด้วยเหตุนี้เองทำให้หน่วยงานตำรวจซาวักไม่พอใจ และมีความโกรธแค้นท่านเป็นอย่างมาก และมีการติดตามและคุกคามท่านอย่างไม่ให้คลาดสายตา ด้วยเหตุนี้ในปี1345 ท่านจำต้องหลบซ่อนตัวเองอยู่ช่วงระยะหนึ่งในกรุงเตหะราน แต่หนึ่งปีให้หลัง ท่านก็ถูกจับและถูกจับกุมตัวอีกครั้ง ในปี 1346
ในปี 1349 ท่านถูกจับกุมตัวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตำรวจซาวักไม่พอใจที่ท่านยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวกิจกรรมทางวิชาการด้วยการชี้แนะวิสัยทัศน์ของผู้ฟื้นฟูอิสลามอย่างแท้จริง.


การจับกุมตัวครั้งที่ห้า

ท่านอิมาม คาเมเนอี ได้กล่าวถึงกรณีที่ท่านถูกจับกุมตัวครั้งที่ห้า โดยตำรวจซาวัก ว่า นับจากปี 1348 ข้าฯ มีความรู้สึกว่าในอิหร่านเริ่มมีการเคลื่อนไหวด้วยการจับอาวุธ ซึ่งจากการปฏิบัติการที่รุนแรงขึ้นของรัฐบาลชาห์ในยุคสมัยนั้น และที่มีต่อตัวข้าพเจ้า โดยที่มีพยานแวดล้อมบ่งชี้ให้เข้าใจว่า เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับตัวข้าพเจ้า ในปี 1350 ข้าพเจ้าถูกจับกุมตัวเป็นครั้งที่ห้า ซึ่งจากการทารุณกรรมและการเลือกปฏิบัติของตำรวจซาวักในครั้งนั้น ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ทางตำรวจลับของชาห์ มีความหวาดวิตกกังวลเป็นอย่างมาก กรณีที่กลุ่มติดอาวุธได้เข้าร่วมสมทบกับขบวนการณ์ความคิดอิสลาม,โดยที่ไม่คาดคิดมาก่อน และไม่อาจยอมรับได้ว่า การเคลื่อนไหวจัดตั้งแนวร่วมทางความคิดและการตับลีฆของข้าพเจ้า ในเมืองมัชฮัด และกรุงเตหะราน นั้น มันไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับกลุ่มขบวนการอื่นๆและมีผู้อยู่เบื้องหลัง.และหลังจากที่ได้อิสรภาพก็เริ่มสอนวิชาการด้านอิสลาม ตัฟซีร์ และความคิดเชิงอุดมการณ์แห่งอิสลามอย่างลับๆ...


การจับกุมตัวครั้งที่หก

ระหว่างปี 1350-1353 ท่านอิมามคาเมเนอี ได้ทำการสอนวิชาตัฟซีร์ และความคิดเชิงอุดมการณ์อิสลาม ในมัสยิด “การอมัต” “อิมามฮูเซ็น” และมัสยิด “มิรซา ญะอฺฟัร” เมืองมัชฮัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากเยาวชน ปัญญาชน นักการศาสนาและนักปฏิวัติจำนวนหลายพันคน เข้าร่วมบทเรียนของท่าน และพวกเขามีความเชื่อว่า สามสถานที่ดังกล่าวคือศูนย์กลางในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับอุดมการณ์ของอิสลามอันแท้จริง, บทเรียนนะห์ญุล บาลาเฆาะฮ์ ก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าบทเรียนอื่นๆซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังมากเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความตื่นตัวให้กับเยาวชนได้ไม่น้อย นอกจากนี้มีการแจกเอกสารประกอบการเรียน ชื่อ ว่า “เศษเสี้ยวหนึ่งจากบทเรียนแห่งนะห์ญุล บาลาเฆาะฮ์” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บรรดาเยาวชนนักปฏิวัติได้เรียนรู้และซึมซับบทเรียนและประสบการณ์การต่อสู้จากตัวของท่าน .
ท่านผู้นำได้เดินทางในการตับลีฆและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและอุดมการณ์ที่แท้จริงของอิสลามไปทั่วทุกภูมิภาคของอิหร่าน ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลก็ตาม ท่านจะดั้นด้นไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อปูทางและเตรียมความพร้อมในการปฏิวัติอิสลามครั้งยิ่งใหญ่ที่จะตามมา, และด้วยการเคลื่อนไหวลักษณะเช่นนี้ของท่าน ทำให้ในปี 1353 เดือน เดย์ ตำรวจ(ซาวัก )ได้บุกจู่โจมบ้านพักของท่านอย่างอุกอาจและไร้ความปราณี โดยได้เข้าไปจับกุมตัวท่าน พร้อมทั้งยังให้มีการจดบันทึกรวบรวมผลงานและข้อเขียนต่างๆของท่าน ซึ่งการจับกุมตัวครั้งนี้ (ครั้งที่หก) ถือว่าเป็นการถูกจับกุมตัวครั้งที่เลวร้ายที่สุดของท่าน เพราะตลอดระยะเวลาที่ท่านถูกจองจำในเรือนจำนั้นท่านต้องพบกับการถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่อาจอธิบายให้เห็นถึงภาพความโหดร้ายต่างๆได้ เพียงแค่สามารถกล่าวได้ว่า “จะมีเพียงแค่บุคคลที่เห็นเหตุการณ์เท่านั้น ที่สามารถสัมผัสความรู้สึกแห่งความเจ็บปวดทุกข์ทรมานครั้งนั้นได้” หลังจากท่านได้รับการปล่อยตัวออกมา ท่านได้เดินทางกลับมายังเมืองมัชฮัด และยังคงดำเนินการเคลื่อนไหวต่อไปเหมือนเดิมโดยไม่สะทกสะท้านใดๆ เพียงแต่ไม่ได้มีการจัดสอนตามห้องเรียนเท่านั้น เพราะสภาพการณ์และโอกาสไม่เอื้ออำนวยให้กับท่านเหมือนที่เคยมีมาก่อน.


ช่วงถูกเนรเทศ

ในปลายปี 1356 รัฐบาลชาห์ ปาลเลวี ได้มีการจับกุมตัวท่านและได้เนรเทศท่านไปยังเมือง อิหร่านชาหร์ เป็นเวลาสามปี ในกลางปี1357ตามปฏิทินอิหร่าน กอปรกับกระแสแห่งการปฏิวัติและการลุกขึ้นต่อสู้อย่างกว้างขว้างของประชาชาติอิหร่าน ทำให้ทางการต้องปล่อยตัวท่านจากสถานที่ดังกล่าว ท่านก็เดินทางกลับยังเมืองมัชฮัดอีกครั้ง และกลายเป็นบุคคลที่ยืนอยู่ในระดับชั้นแนวหน้าและเป็นแกนนำคนสำคัญในการประกาศการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนที่มีต่อชาห์
หลังจากสิบห้าปีของช่วงเวลาแห่งการต่อสู้และการยืนหยัดในแนวทางของพระองค์ การยืนหยัดแบกรับความทุกข์ทรมานและความข่มขืนต่างๆนาๆ ในที่สุดผลิตผลแห่งความสำเร็จอันสวยสดงดงามในการต่อสู้ยืนหยัด ก็บรรลุชัยชนะ คือการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านประสบกับความสำเร็จและสามารถโค่นล้มรัฐบาลของจอมเผด็จการชาห์ ปาห์เลวี ฏอฆูตแห่งยุคสมัยได้อย่างราบคาบ และสามารถสถาปนารัฐอิสลามแห่งอิหร่านขึ้นบนแผ่นดินนั้นได้อย่างสมเกียรติและภาคภูมิ.


ช่วงแรกที่ได้รับชัยชนะ

ในช่วงแรกที่การปฏิวัติอิสลามจะได้รับชัยนะ และในขณะที่ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ยังไม่ได้กลับมาจากกรุงปารีส ท่านก็ได้ประกาศจัดตั้งสภาชูรอการปฏิวัติอิสลามขึ้นมา(สมาชิกสภาการปฏิวัติ) โดยมีสมาชิกผู้ซึ่งเป็นนักต่อสู้ที่ร่วมอุดมการณ์กันมา อาทิ ชะฮีด มุฏ็อฮ์ ฮารีย์, ชะฮีด เบเฮชตีย์, ฮาชีมีย์ รัฟซันญานีย์ และ อีกหลายๆท่าน และด้วยคำสั่งของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ท่านซัยยิดอาลี คาเมนี ก็เข้ามาเป็นสมาชิกในสภาชูรอการปฏิวัติดังกล่าว ซึ่งสาส์นในการประกาศแต่งตั้งดังกล่าวนั้น ท่าน ชะฮีด มุฏ็อฮ ฮารีย์ เป็นคนอ่าน และเมื่อท่าน อิมามคาเมเนอี ได้รับสาส์นดังกล่าวของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ)แล้ว ท่านก็ได้เดินทางเข้าสู่กรุงเตหะราน


หลังจากชัยชนะ

หลังจากการปฏิวัติอิสลามประสบความสำเร็จ ท่านอิมาม คาเมเนอี ก็ได้เดินหน้าปฏิบัติภารกิจอย่างสุดความสามารถเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันแท้จริงของการปฏิวัติอิสลาม ซึ่งในเวลานั้น ในยุคสมัยนั้น จะหา ผู้ใดมาเปรียบเทียบกับท่านไม่ได้เลย เพราะท่านเป็นบุคคลที่สำคัญและมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในยุคสมัยนั้น และท่านได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญๆหลายอย่างด้วยกันอาทิเช่น
เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคสาธารณรัฐอิสลามในอิหร่าน และเป็นเลขาธิการพรรค
เป็นสมาชิกวิสามัญสภาปฏิวัติ
เป็น ตัวแทนของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ)ในสภาปฏิวัติในกระทรวงกลาโหม
เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
เป็นอิมามนำนมาซวันศุกร์ในกรุงเตหะราน
เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเตหะราน
เป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านสองสมัยติดกัน(ประธานาธิบดีคนที่สองของรัฐอิสลาม) ซึ่งในสมัยแรกท่านได้รับคะแนนเสียง มากถึง 15 ล้านเสียง
ท่านเป็นประธานาธิบดีคนแรกของโลกที่กล้ากระชากหน้ากากเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐบาลอเมริกาในการปราศรัยครั้งสำคัญที่สหประชาชาติ ณ สถานที่แห่งนั้นท่านได้กล่าวประณามการกดขี่และการกระทำที่ชั่วร้ายทั้งหลายของรัฐบาลอเมริกา ซึ่งการกระทำเยี่ยงนี้ยังไม่เคยมีใครกล้าแสดงเช่นนั้นมาก่อน และในครั้งนั้นท่านยังใช้เป็นโอกาสในการเผยแผ่คำสอนแง่มุมมุมต่างๆของอิสลาม ทั้งทางด้านปรัชญา และอุดมการณ์อิสลามที่แท้จริง และที่สำคัญคือ ท่านเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็นนักการศาสนา สวมใส่ชุดของท่านศาสดา (ซล) ประกาศความยิ่งใหญ่ของอิสลามต่อประชาคมโลกทั้งหลาย
ภายหลังจากการอสัญกรรมของท่านอิมามโคมัยนี (รฎ) ท่านอยาตุลลอฮฺ ซัยยิดอาลี คาเมเนอีได้รับการคัดเลือกจาก สภาอุลามาสูงสุด(มัชลิสคุบเร่ฆอน)ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านและมวลมุสลิมคนต่อไป เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ 1989 และท่านยังคงดำรงตำแหน่งอยู่จวบจนปัจจุบัน

700 /