สำนักผู้นำสูงสุดซัยยิด อาลี คาเมเนอี

การประกอบพิธีฮัจญ์

    • คำนำ
      ปริ้นซ์  ;  PDF
      «وَأَذّنْ فِي النّاسِ بِالْحَجّ يَأْتُوكَ رِجالاً وَ عَلى كُلّ ضامِرٍ يَأْتِينَ مِنْ كُلّ فَجّ ٍ عَمِيقٍ »

      และเจ้าจงประกาศเถิด (อิบรอฮีมเอ๋ย) ในมวลมนุษย์ชาติ เพื่อการบำเพ็ญพิธีฮัจญ์ ซึ่งพวกเขาจะมา (ตามคำเรียกร้อง) ยังเจ้า มีทั้งกลุ่มชนที่เดินมาและขี่อูฐอันผอมเพรียว พวกเขาจะมาจากทุกหนทุกทางอันไกลโพ้น

      (1) ฮัจญ์คือการตอบรับคำเชิญชวน และการเรียกร้องเชิญชวนของท่านนบีอิบรอฮีม(อ) ภายหลังจากที่ท่านได้สร้างบัยตุลลอฮ์ ขึ้นมา ตามคำบัญชาของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล โดยมีการเชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติจากทุกหมู่เหล่า ทั้งทางเท้า และทางพาหนะ จากทั่วทุกสารทิศเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์และซิยารัตบัยตุลลอฮ์. ตามริวายะห์ ได้กล่าวว่า ฮัจญ์เป็นคำบัญชาจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ถือเป็นหลักการหนึ่งของ
      รุกุนอิสลาม “ตราบใดที่กะอฺบะห์ยังคงอยู่ ศาสนาอันบริสุทธิ์ก็จะคงมีต่อไป” لا يزال الدين قائماً ما قامت الكعبة

      (2) และคราใดที่มนุษยชาติ ได้ละเลยและมิให้ความสำคัญต่อการประกอบพิธีฮัจญ์ เมื่อนั้นบทลงโทษของอัลลอฮ์(ซบ)ก็จะบังเกิดขึ้นแก่พวกเขาอย่างแน่นอน
      لوترك الناس الحجّ، لنزل عليهم العذاب

      (3) ฮัจญ์เป็นกฎข้อบังคับที่พิเศษและเฉพาะสำหรับบุคคล อีกทั้งเป็นศูนย์รวมวิชาการความรู้ของพระผู้เป็นเจ้า (มาอารีฟ)และจะครอบคลุมเนื้อหาของทุกๆอิบาดะห์ ฮัจญ์เสมือนเช่น ซะกาต และคุมส์ อันเป็นอิบาดะห์ภาคการเงิน , ฮัจญ์เสมือนเช่น การนมาซ อันเป็นอิบาดะห์ภาคกายภาพและคำพูด , ฮัจญ์เสมือนเช่นการญิฮาด อันเป็นอิบาดะห์ภาคปฏิบัติและการคงมีอยู่ และก็เสมือนเช่น การถือศิลอด อันเป็นอิบาดะห์ภาคการอดกลั้น ในด้านปัจเจกบุคคลนั้น ฮัจญ์เป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นบ่าวที่สมบูรณ์ และเป็นการนอบน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริง ณ เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ) ดังนั้นจึงเป็นความหวังและความปรารถนาที่สำคัญยิ่งของมวลมนุษยชาติ กล่าวคือ สามารถนำมาซึ่งความผาสุกและความไพบูลย์สำหรับเขา ด้วยการประกอบพิธีฮัจญ์ ความผิดบาปต่างๆของเขาก็จะได้รับการอภัยโทษลง

      (๔) และเขาจะไม่ได้รับสิ่งอื่นใดนอกจากสวรรค์เป็นรางวัลตอบแทน, บรรดาผู้แสวงบุญคือแขกพิเศษของอัลลอฮ์(ซบ)ผู้ทรงเมตตาปราณียิ่ง และคำวิงวอนของพวกเขาก็จะถูกตอบรับ หลักการปฏิบัติต่างๆของอิสลามในด้านสังคมนั้น ฮัจญ์ถือเป็นอิบาดะห์หนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและพิเศษเหนือกว่าสิ่งอื่นใด อันเป็นแหล่งปรากฏแห่งพลังอำนาจ เกียรติ์ยศ และความเป็นภราดรภาพของประชาชาติอิสลามอย่างแท้จริง ซึ่งไม่มีอิบาดะห์ใดๆในอิสลาม ที่สามารถนำเสนอบทเรียนและอุทาหรณ์ให้กับมวลมุสลิมในเรื่องประเด็นประชาชาติอิสลามและประชาคมโลกได้ดีไปกว่าการประกอบพิธีฮัจญ์
      ฮัจญ์ และการซิยารัตกะอฺบะฮ์ คืออิบาดะห์ และการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมายและความคาดหวังนั้น จะบังเกิดผลขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ก็ต่อเมื่อ มีการประกอบพิธีแห่งจิตวิญญาณควบคู่ไปด้วย และต้องปฏิบัติตามคำบัญชาจากพระองค์ทุกประการ ขอบเขตและความซับซ้อนของบทบัญญัติแห่งการประกอบพิธีฮัจญ์นั้น มิอาจเปรียบเทียบกับอิบาดะฮ์อื่นๆใดได้ ครั้นที่ ซูรอเราะห์ ได้เอ่ยถามยังท่านอิมามศอดิก(อ) ว่า นับเป็นเวลาสี่สิบปีแล้ว ที่ฉันได้ถามท่านในเรื่องฮัจญ์ และท่านก็ยังคงให้คำตอบเสมอมา ซึ่งท่านอิมาม(อ)กล่าวว่า

      يا زرارة، بيت حجّ اليه قبل آدم بألفي عام تريد أن تفني مسائله في أربعين عاماً

      โอ้ ซูรอเราะห์ เอ๋ย เป็นบ้านที่มีการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นเวลาสองพันปี ก่อนนบีอาดัมถือกำเนิด แล้วเจ้าคาดหวังหรือว่าเพียงแค่สี่สิบปี เรื่องราวและประเด็นฮัจญ์นั้นจะสามารถปฏิบัติได้ทั้งหมด

      (๕) เนื่องจากความสำคัญและความละเอียดอ่อนอันล้ำลึก ประกอบกับภาระหน้าที่ทางหลักชัรอีย์ของผู้แสวงบุญนั้น ได้บ่งชี้ว่าจะต้องมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รู้ในภาระหน้าที่ของตน และต้องปฏิบัติตามคำฟัตวาของมัรเญีอ์ที่ตนตักลีดตาม
      ในการนี้ สามารถศึกษาและอ่านคู่มือประกอบพิธีฮัจญ์ของท่านอายาตุลลอฮ์ อัลอุศมา ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ซึ่งมีคำฟัตวาและคำวินิจฉัยประมาณ ๑๔๐๐ กว่าเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นคู่มือฮัจญ์ที่สมบูรณ์ที่สุด โดยท่านซัยยิด อาลี คาเมเนอี ได้มีการเสริมคำฟัตวาของท่านในคู่มือดังกล่าวอีกด้วย
      ด้วยเหตุผลและความจำเป็นทางด้านหลักชัรอีย์(บทบัญญัติ) สำหรับผู้แสวงบุญ ทาง อยาตุลลอฮ์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี ได้อนุญาตให้คงการตักลีดตามท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) หรือในปัจจุบันก็สามารถที่จะตักลีดตาม ฯพณฯ ผู้นำสูงสุดได้ และพวกเขาได้มีการถามคำถามมา และทางเราก็ได้ตอบคำถามดังกล่าว โดยทางสำนักงานฝ่ายวินิจฉัยของฯพณฯ เป็นผู้ดำเนินการ และมีการเสริมคำวินิจฉัยและได้ออกคำวินิจฉัยใหม่ล่าสุด ประกอบในคู่มือฮัจญ์ของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ )อีกด้วย , และทางเราก็ได้มีการนำเสนอคู่มือดังกล่าวให้กับผู้ตักลีดตาม ฯพณฯท่านได้ครอบครองเพื่อจะได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป

      ومن الله التوفيق

          1.    ซูเราะห์ ฮัจญ์ โองการที่ ๒๗
          2.    หนังสือ วะซาอิลุลชีอะห์ เล่ม ๑๑ หน้า ๒๑
          3.    จากท่านอิมามบากิร(อ) หนังสือ มอานีย์ อัคบาห์ หน้า ๑๗๐
          4.    หนังสือ วะซาอิลุลชีอะห์ เล่ม ๑๑ หน้า ๒๑




    • บทนำ
    • เงื่อนไขและวาญิบต่างๆในฮัจญ์
700 /